การลดขนาดหน้าอก (Breast Reduction)⠀
คือการผ่าตัดนำไขมันส่วนเกิน เนื้อเยื่อ และผิวเต้านมบางส่วนออก เพื่อให้เต้านมมีขนาดเล็กลง เนื่องจากขนาดเต้านมที่ใหญ่ หรือมีน้ำหนักมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ปวดไหล่ ปวดคอ กระดูกเคลื่อน รู้สึกไม่มั่นใจ ประหม่า
ผู้ที่เหมาะกับการศัลยกรรมลดขนาดหน้าอก คือใคร?
✔️ ผู้ที่ปวดคอ หัวไหล่ หลัง ศีรษะ หรือ ปัญหาเกี่ยวกับระบบกระดูก เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน (Herniated discs) จากการรับน้ำหนักหน้าอกมากเกินไป
✔️ ผู้ที่รู้สึกไม่มั่นใจจากขนาดหน้าอกที่ใหญ่เกินไป รวมไปถึงปัญหาการหาเสื้อผ้าใส่ยาก
✔️ ผู้ที่หน้าอกใหญ่ไม่เท่ากัน หรือไม่สมส่วนกับร่างกาย
การทำศัลยกรรมลดขนาดหน้าอกมีกี่แบบ?
การทำศัลยกรรมเพื่อลดขนาดหน้าอกหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. ลดขนาดให้เล็กลงจากเดิม
เป็นการศัลยกรรมสำหรับคนที่มีหน้าอกที่มากเกินไป ที่อยากจะมีหน้าอกที่เล็กลงและกระชับขึ้น รวมไปถึงคนที่หน้าอกใหญ่ไม่เท่ากันต้องการปรับให้มีขนาดเท่ากันด้วย การศัลยกรรมผ่าตัดลดขนาดหน้าอก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้หน้าอกคืนทรงสวยอีกครั้ง ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นการตัดแต่งผิวหนังเนื้อเยื่อและไขมันส่วนเกินออก และยกระดับหัวนมให้สูงขึ้น ในกรณีที่หน้าอกมีขนาดปานนมที่ใหญ่เกินไป แพทย์จะทำการลดขนาดปานนมไปด้วย เพื่อให้สัดส่วนของขนาดหน้าอกและปานนมมีความสมดุลกัน การลดขนาดหน้าอก จะไม่สามารถทำให้หน้าอกส่วนบนหรือเนินหน้าอกฟูเต็มตามที่ต้องการได้ทุกเคส อาจจะต้องมีการเสริมหน้าอกพร้อมยกกระชับไปด้วยบางเคสที่มีหน้าอกใหญ่เกินไป อาจจะมีการยกกระชับพร้อมกับลดขนาดหน้าอกร่วมด้วย
2. การตัดหน้าอกออกทั้งหมด (Mastectomy)
เป็นการตัดหน้าอกของสาวหล่อ ที่จะเปลี่ยนจากอกหญิงสาวให้กลายเป็นอกที่แบนราบชายหนุ่ม การศัลยกรรมผ่าตัดเอาหน้าอกออกทั้งหมด จะเป็นการผ่าตัดเนื้อเต้านมและผิวหนังส่วนเกินออกให้แบนราบลงแบบเดียวกับหน้าอกผู้ชาย ปรับแต่งหัวนมและปานนมให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมเป็นธรรมชาติ การตัดหน้าอกหรือเต้านมออก สามารถทำได้หลายเทคนิค ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าอก ความหย่อนคล้อย และความยืดหยุ่นของผิวหนังในแต่ละคน
การผ่าตัดลดขนาดหน้าอกทำอย่างไร?
1. ศัลยแพทย์จะให้ยาสลบ หรืออาจให้ร่วมกับยาชาเฉพาะที่ด้วย
2. ศัลยแพทย์จะเปิดแผลบริเวณลานนม หรืออาจเปิดบริเวณใต้ราวนมด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน
3. แพทย์จะนำเอาเนื้อเยื่อไขมัน และผิวหนังบางส่วนออกเพื่อลดขนาดของเต้านม
4. ในบางกรณีศัลยแพทย์อาจต้องมีการปรับตำแหน่งของหัวนม เพื่อให้ดูสมส่วนกับขนาดเต้านมที่เล็กลง
5. หลังจากลดขนาดเสร็จแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการเย็บและนำผ้าพันแผลมาปิดเอาไว้ อาจต้องใส่ท่อระบายของเหลวเพื่อลดอาการบวมหลังผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนทำศัลยกรรม
✅ งดเครื่องดื่มและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนรับบริการ
✅ แจ้งแพทย์ให้ทราบถึงประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว แพ้ยา การรับประทานยาและอาหารเสริมทุกตัว โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะโลหิตจาง ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่รักษาโรคนั้น ๆ
✅ งดยาละลายลิ่มเลือด ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอื่นที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยารักษาโรคไซนัส ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของยาดังกล่าว ตลอดจนวิตามินอี น้ำมันปลา สมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิด 1 เดือนก่อนผ่าตัด
✅ งดรับประทานอาหารที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดก่อนผ่าตัด 2 สัปดาห์ เช่น ผงชูรส กระเทียม หัวหอม ถั่วเหลือง อัลมอนด์ แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แตงกวา ขิง มะเขือเทศ รวมถึงอาหารที่ไม่สุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
✅ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนผ่าตัด 2 สัปดาห์
✅ หากมีอาการไอ มีไข้ หรืออาการป่วยใด ๆ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อเลื่อนการผ่าตัด
✅ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 8-12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
✅ หากผู้รับบริการมีการต่อเล็บมือ เช่น เล็บเจล อะคริลิค หรือพีวีซี ต้องถอดเล็บก่อนเข้ารับบริการ เนื่องจากระหว่างการทำหัตถการจำเป็นจะต้องสวมเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วเพื่อความปลอดภัย
การดูแลตัวเองหลังทำศัลยกรรม
❇️ หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 วัน อาจต้องใส่ท่อระบายเลือดและอาจมีเลือดซึมที่แผลผ่าตัดได้
❇️ ห้ามให้แผลโดนน้ำประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
❇️ งดรับประทานอาหารรสจัด ของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงงดสูบบุหรี่ประมาณ 1 เดือนหลังรับบริการ
❇️ ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ถ้าต้องทำงานที่ต้องออกแรงหนักควรรอหลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน
❇️ ไม่ต้องประคบเย็นหลังผ่าตัด
❇️ ควรนอนพักให้มากและเดินให้น้อย เพราะการเดินมากอาจทำให้แผลอักเสบได้ และควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
❇️ หากกังวลว่าแผลผ่าตัดจะไม่เรียบ สามารถใช้ซิลิโคนแผ่นปิดแผลได้หลังจากตัดไหมแล้ว
❇️ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แผลแยกปริ แผลอักเสบ บวม แดง มีไข้สูง หน้าอกบวมผิดปกติ ปวดแผลมาก มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกจากแผล ให้รีบติดต่อทางคลินิกเพื่อเข้ารับการดูแลจากแพทย์
❇️ ในกรณีที่ไม่ได้ตัดออกทั้งหมด ควรใส่เสื้อชั้นในประคองเต้านมเอาไว้ เพื่อป้องกันหน้าอกกลับมาหย่อนคล้อยอีก